Friday, December 29, 2006

0007 กู่พระเจ้าล้านทอง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง



"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหน้า วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"



"กู่พระเจ้าล้านทองด้านหลัง วิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง"

รายละเอียด
กู่พระเจ้าล้านทอง (ศาสตราจารย์ สันติ เล็กสุขุม เรียกว่า เจดีย์ทรงปราสาท) ตั้งอยู่บริเวณท้ายวิหารหลวง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปคือพระเจ้าล้านทอง ซึ่งหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2019 กู่นี้คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2106 หลังจากที่เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ใต้ปกครองของพม่า ส่วนบนของกู่เป็นแบบผสมระหว่างหลังคาลาดกับหลังคาลดชั้น องค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งลวดลายปั้นประดับมีอยู่อย่างมากมาย แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของงานประดับในช่วงเวลานั้นด้วย

ที่มาข้อมูล : สันติ เล็กสุขุม. หริภุญชัย-ล้านนา : ศิลปะภาคเหนือ, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538, หน้า 167

ศุกร์ 29 ธันวา 49

0006 ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง



"ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง"



"ลายเส้น ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง" [อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 53]


"ภาพตัดแสดงตำแหน่งที่ตั้งสำคัญบนเนวัดพระธาตุลำปางหลวง"(1.พระธาตุเจดีย์ 2.วิหารหลวง 3.กู่พระเจ้าล้านทอง 4.ประตูโขง) [อุมาพร เสริฐพรรณึก, การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง, หน้า 45]

รายละเอียด

ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนิน มีความสูงประมาณ 13 เมตร โดยมีบันไดนาคทอดยาวเชื่อมพื้นที่ระหว่างวัดกับภายนอก ลักษณะเป็นอาคารทรงมณฑปมียอดแหลมซ้อนหลายชั้น โครงสร้างก่ออิฐถือปูน ภายนอกฉาบด้วยปูนสีขาวแต่งลายปูนปั้นเกือบตลอด ทำเป็นช่องทางเดินด้านทิศตะวันออก-ตะวันตก ปากช่องทางเดินประดับซุ้มโค้งซ้อน 2 ชั้น

ที่มาข้อมูล : อุมาพร เสริฐพรรณึก. การศึกษาประตูโขงแบบล้านนาในจังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2540 ,หน้า 45

ศุกร์ 29 ธันวา 49

0005 สิงห์ปูนปั้น ฐานชุกชี วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง


"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านขวา" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]


"สิงห์ปูนปั้นประดับฐานชุกชี วิหารน้ำแต้มด้านซ้าย" [ถ่ายเมื่อ 5 มิถุนา 47]

รายละเอียด
ทั้งสองเป็นลวดลายปูนปั้นนูนสูง บริเวณตัวสิงห์ปั้นจนเกือบเป็นรูปปฏิมากรรมลอยตัว บนหลังสิงห์เป็นหม้อบูรณฆฏะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตำแหน่งอยู่บริเวณฐานชุกชีด้านหลังวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง

ศุกร์ 29 ธันวา 49

0004 ลายคำภาพต้นศรีมหาโพธิ วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา ลำปาง


"ลายต้นศรีมหาโพธิ งานลายคำประดับผนังปูนท้ายวิหาร วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง"



รายละเอียด
ศาสตราจารย์ สุรพล ดำริห์กุล ได้กล่าวไว้ใน "ลายคำล้านนา" ว่า แบบแผนของงานประดับลวดลายภาพต้นศรีมหาโพธิภายในอาคารทางศาสนาล้านนานั้น มีหลักฐานเก่าสุดปรากฏอยู่ที่วิหารน้ำแต้ม ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22

ลักษณะเป็นงานลายคำประดับผนังปูนท้ายวิหารเป็นภาพต้นศรีมหาโพธิ จำนวน 3 ต้น มีกิ่งก้านสาขาอย่างงดงาม ตอนบนเบื้องซ้ายจะมีพระจันทร์(เทพบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลากลางคืน มีเส้นทางโคจรเป็นทักษิณาวรรตรอบเขาพระสุเมรุ) และเบื้องขวาเป็นภาพพระอาทิตย์ (เทพบนวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นผู้ให้แสงสว่างแก่โลกในเวลากลางวัน โดยโคจรเป็นทักษิณาวรรตรอบเขาพระสุเมรุ) อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล สอดแทรกด้วยภาพนก หรือหงส์บิน และมีเทวดากระทำอัญชลีพร้อมช่อดอกไม้ประกอบอยู่ทั้งสองข้าง


ที่มาข้อมูล :
สุรพล ดำริห์กุล. ลายคำล้านนา, กรุงเพทฯ : เมืองโบราณ, 2544, หน้า 365-369

ศุกร์ 29 ธันวา 49


"ลวดลายต้นศรีมหาโพธิ วิหารน้ำแต้ม พุทธศตวรรษที่ 22" [จาก ลายคำล้านนา, หน้า 369]




"ภายในวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง"

Tuesday, December 26, 2006

0003 พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง


ผังพื้นพระธาตุลำปางหลวง
[ที่มา : พรรณนิภา ปิณฑวณิช, การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546 ]


รูปด้านพระธาตุลำปางหลวง
[ที่มา : พรรณนิภา ปิณฑวณิช, การศึกษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วิทยานิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546 ]



"พระธาตุลำปางหลวง ตัวแทนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล" [ภาพโดย วโรดม ศุขสวัสดิ์, หม่อมหลวง, 16 ธันวา 46]



"ซุ้มประตูโขง และรั้วรอบพระธาตุลำปางหลวง"
[ภาพโดย วโรดม ศุขสวัสดิ์, หม่อมหลวง, 16 ธันวา 46]


"บริเวณเสาเหล็ก ที่เชื่อกันว่าเป็นรอยกระสุน ของหนานทิพย์ช้าง"
[ภาพโดย ขวัญสรวง อติโพธิ, 26 มกรา 47]

รายละเอียด
พระธาตุลำปางหลวง ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นเจดีย์กลมทรงระฆังคว่ำ(แต่ในหนังสือพระเจดีย์ในล้านนา โดย สถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กลับเรียกว่า เจดีย์แบบพุกามล้านนา เนื่องจากมีการปิดทองจังโกคล้ายแบบพุกามนั่นเอง) ปิดทองจังโกทั่วทั้งองค์เจดีย์ รูปทรงหนักแน่น ไม่ชลูดเหมือนเจดีย์แห่งอื่นๆ รอบๆพระธาตุมีการล้อมรอบด้วยรั้วเหล็ก โคมรั้ว มีการสร้างซุ้มประตูโขงอยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุ บริเวณรั้วเหล็กมีเรื่องเล่าถึง รอยกระสุนปืน ที่หนานทิพย์ช้างยิงปืนสังหาร ท้าวมหายศ เมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 23

ปรากฏในตำนานพระธาตุลำปางหลวงที่กล่าวถึง การเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้า ที่บ้านลัมภะการีวัน(บ้านลำปางหลวง) เมื่อเสด็จอยู่ดอยม่อนน้อย ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่ง นาม"ลัวะอ้ายกอน" เห็นพระพุทธเจ้า เกิดมีความเลื่อมใสได้นำเอาน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง(ไม้ช้าวหลามไม้เปราะ) มะพร้าวและมะตูมอย่างละ 4 ลูกน้อมถวายพระองค์ และพระองค์ก็มอบพระเกษาและได้มีพุทธพยากรณ์ต่อไปว่า ในอนาคต จะมีพระอรหันต์นำเอาอัฐิพระนลาต(หน้าผาก)ข้างขวา และอัฐิลำคอข้างหน้าหลังมาบรรจุไว้ในนี้



ที่มาข้อมูล :


ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระแก้วมรกต ตำนานเจ้าเจ็ดตน, ลำปาง : โรงพิมพ์ศิลป์ประดิษฐ์, 2513


พรรณเพ็ญ เครือไทย. พระเจดีย์ในล้านนา , สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2546


สรัสวดี อ๋องสกุล. ประชุมตำนานลำปาง, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548



พุธ 27 ธันวา 49


พฤหัส 28 ธันวา 49 เพิ่มเติม

Sunday, December 10, 2006

0002 โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง


"โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง" มีลวดลายปูนปั้นประดับประดาไม่มากไม่น้อย


"โคมรั้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง"ในรูปแบบเรียบๆ ในบริเวณไม่ไกลกันนักจากโคมรั้วชุดแรก


รายละเอียด
อ.วิถี พานิชพันธ์ ได้จัดให้อยู่ในหมวดของ ประตูโขง ที่ถือว่าเป็นการจำลองเขาพระสุเมรุออกมาเป็นรูปทรงสามมิติ เพื่อให้เห็นแนวคิดของจักรวาลคติสมบูรณ์ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการผ่านพ้นไปสู่มิติที่สูงขึ้นไปสู่สวรรค์วิมาน และพระนิพพาน หรือเป็นซุ้ม "สุวรรณคูหากู่คำ" อันเป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลังจากการตรัสรู้ โคมรั้วนี้ประดับอยู่รายรอบ พระธาตุลำปางหลวง มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน

ที่มาภาพ :
วิถี พานิชพันธ์. "ร้อยลายสายละกอน" ใน หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ นางบุญแถม เดียวตระกูล, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โอ. เอส. พริ้นติ้ง, 2547, หน้า 75, 78

อังคาร 26 ธันวา 49

0001 จิตรกรรมฝาผนัง วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง





"จิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ อายุประมาณ 300-400 ปี วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง" ภาพจิตรกรรมได้แสดงให้เห็นวิถีชีวิต การแต่งกาย และสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นอย่างน่าสนใจ

รายละเอียด
เป็นงานจิตรกรรมฝาผนังเขียนประดับที่บริเวณคอสอง ของวิหารน้ำแต้ม (ซึ่งคำว่า น้ำแต้ม มีความหมายว่า ภาพจิตรกรรม) อันตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระบรมธาตุ ได้มีผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมดังกล่าวและลงความเห็นไว้ว่าควรมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22(จากความเห็น อ.สน สีมาตรัง และ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ เห็นว่าควรเขียนในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ขณะที่ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เสนอไว้ว่า ควรมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา)

ฐาปนีย์ เครือระยา ได้ศึกษาไว้ว่า เรื่องราวเป็นภาพเล่าธรรมะที่เน้นสอนคุณธรรม เรื่องความไม่ประมาท ซึ่งสื่ออกมาทางภาพจิตรกรรมประกอบเรื่อง มฆมาณพ หรือ ประวัติพระอินทร์ และประวัตินางสามาวดี

ที่มาข้อมูล :
ฐาปนีย์ เครือระยา. ภาพจิตรกรรมเขียนสีในวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง รายงานการศึกษา ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545, หน้า 40
สุรพล ดำริห์กุล. ลายคำล้านนา, กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2544, หน้า 61-62
ที่มาภาพ :
วิถี พานิชพันธ์. "ร้อยลายสายละกอน" ใน หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ นางบุญแถม เดียวตระกูล, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โอ. เอส. พริ้นติ้ง, 2547, หน้า 58

อังคาร 26 ธันวา 49

สืบค้น แสวงหา ศิลปะลำปาง

ไม่ว่าศิลปะเก่าแก่
หรือ ร่วมสมัย
เราจะทำให้ปรากฏ

ส่วนแรกเราจะแสดง มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง ที่ปรากฏในรูปแบบงานศิลปะ ซึ่งแน่นอนว่าตั้งแต่ งานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม โดยเบื้องต้นเราจะนำเสนอจากข้อมูล "แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมนครลำปาง" (2549)

อาทิตย์ 10 ธันวา 49